วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แนะเลี้ยง นกกรงหัวจุก ให้เป็นนักรบราวเหล็ก


นกกรงหัวจุก


นิพนธ์ สีลาเนียม คนรักนกแห่งสวนผึ้ง ราชบุรี แนะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ให้เป็น "นักรบราวเหล็ก" (มติชนออนไลน์)

คอลัมน์ เทคโนฯสัตว์เลี้ยง
โดย มนตรี แสนสุข

   
       นกกรงหัวจุก นกตัวน้อย ปราดเปรียว เสียงไพเราะ หลายคนตั้งฉายามันคือ "นักรบราวเหล็ก" นั่นก็คือ เวลานำกรงขึ้นราวเหล็กในสนามแข่งขันการประกวดเสียงนกร้อง นักรบตัวน้อยน่ารักเสียงใสจะคึกคักปราดเปรียวมีความหึกเหิมที่จะเข้าต่อสู้พันตูกับนกกรงอื่น ๆ นักรบตัวน้อยจะส่งเสียงร้องก้องกังวานเข้าต่อกรกับนกกรงข้าง ๆ ประหนึ่งใช้เสียงเข้าข่มขวัญ ฝ่ายนกคู่ต่อสู้กรงข้าง ๆ ก็จะส่งเสียงร้องก้องกังวานโต้ตอบเช่นกัน เป็นการใช้เสียงเข้าต่อกร เพราะไม่มีทางที่จะจิกตีให้รู้แพ้รู้ชนะกันได้แน่นอน นกเก่งๆ หลายตัวพอขึ้นราวเหล็กในสนามแข่งขัน เพียงแค่ส่งเสียงร้องก้องกังวานที่ไพเราะ ก็เล่นเอาไม่มีใครอยากจะให้นกของตนเองไปอยู่ข้าง ๆ ซะแล้ว และนี่ก็เป็นที่มาของ "นักรบราวเหล็ก" การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเพื่อเข้าสู่สนามแข่งขัน การประกวดเสียงร้องของนก ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ๆ
          คุณนิพนธ์ สีลาเนียม หรือ นวย จอมบึง กรรมการบริหารสมาพันธุ์ผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ภูธรภาค 7 แห่งอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า นกกรงหัวจุกนี้เริ่มเลี้ยงกันในจังหวัดภาคใต้มาก่อน มีการแข่งขันประกวดเสียงร้องของนกมานานหลาย 10 ปีแล้ว ได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันความนิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกแพร่หลายไปทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

          คุณนิพนธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นกกรงหัวจุกยังถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าสงวนฯ ถ้าถามว่า มีไว้ในครอบครองจะผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังผิดกฎหมายอยู่ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้เข้ามาจดทะเบียนนกเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ เพาะขยายพันธุ์ และเพื่อการประกวดเสียงร้อง เป็นนกเลี้ยงตามบ้านทั่วๆ ไป ไม่ได้ไปจับมาจากป่า เลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ จึงสามารถเพาะเลี้ยงกันได้เช่นในทุกวันนี้

    
      นกกรงหัวจุก ที่นิยมมาเลี้ยงกันนั้น คุณนิพนธ์ บอกว่า สายพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นนกมาจากภาคใต้ ลักษณะของนกที่นิยมเลี้ยงต้องแก้มแดง หงอนสูงโค้ง ก้นแดง ร้องเสียงไพเราะ ซึ่งในกลุ่มเดียวกันนี้ก็มีนกปรอดบ้านไม่มีจุก นกปรอดบ้านหน้าขาว และนกปรอดบ้านหน้ามอมจุกดำ ไม่นิยมเลี้ยงเพื่อการแข่งขันเสียงร้อง เพราะร้องน้ำเสียงไม่ไพเราะ
          นกกรงหัวจุกแต่ละถิ่นผู้เพาะเลี้ยงนกที่ช่างสังเกตและศึกษาเรียนรู้จริง ๆ จัง ๆ แล้วจะทราบดีว่ามีลักษณะรูปพรรณสัณฐานแตกต่างกัน แต่ก็ไม่มากนัก แตกต่างในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น คนที่ไม่ใช่นักเลี้ยงนกกรงหัวจุกจริงๆ อาจจะไม่ทราบข้อแตกต่างก็ได้ อย่างเช่น นกกรงหัวจุกจากสวนผึ้ง ราชบุรี ก็มีความแตกต่างจากนกภาคใต้ น้ำเสียงลีลาการร้องก็แตกต่างออกไป ปัจจุบัน นกจากสวนผึ้งได้รับความนิยม จัดอยู่ในชั้นแนวหน้าของนกเสียงไพเราะก็ได้

          "นกจากใต้ประเภทเสียงทองจะร้องเสียงใหญ่ห้าว บางตัวร้องได้ถึง 6-7 พยางค์ การฟังเสียงร้องของนกนั้น นับจากคำร้อง ถ้าร้อง 1 ครั้ง นับเป็น 1 พยางค์ เช่น นกร้อง จก ควิก ควิก แบบนี้ 3 พยางค์ ร้อง จก ควิก ควิก ไขว ยอ ลิ เหลี่ยว อย่างนี้ 7 พยางค์ แต่นกส่วนใหญ่จะร้อง 3 พยางค์ เช่น จก ควิก ควิก หรือ ควิก จก ควิก นกประกวดเสียงร้องมักจะร้อง 4-5-6 พยางค์ การร้องแต่ละพยางค์ของนกนั้น เขาเรียกว่า "แม่ไม้เพลงนก" ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเข้าใจและฟังเสียงร้องของนกได้"

         
คุณนิพนธ์ กล่าวและว่า สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นประเภทมือใหม่สมัครเล่นนั้น ก่อนจะไปซื้อนกมาเลี้ยงขอให้ปรึกษาคนที่มีความรู้ กำลังเลี้ยงนกอยู่ในขณะนี้ หรือจะไปซื้อนกตามสนามแข่งขันนกกรงหัวจุกทั่ว ๆ ไปก็ได้ การซื้อนกไม่จำเป็นต้องซื้อนกที่สวยงามถูกต้องตามองค์ประกอบทั้งหมด ทุกวันนี้เราเลี้ยงนกก็เพื่อฟังเสียงร้องที่ไพเราะ เลี้ยงเพื่อการประกวดเสียงร้องของนก เวลานำนกไปแข่งขันตามสนามต่าง ๆ เมื่อนกขึ้นราวเหล็กในสนาม นกจะต้องร้องอย่างเดียวเท่านั้น กรรมการจึงจะตัดสินให้คะแนนเสียงร้องของนก ไม่ได้ดูว่านกตัวนั้นจะสวยหรือไม่สวยขนาดไหน และเสียงร้องของนกต้องร้อง 3 พยางค์ ขึ้นไป จึงจะซื้อได้          "ขอให้ท่านซื้อนกจากคนที่เราอยากซื้อ แต่อย่าซื้อนกจากคนที่เขาอยากขาย"
 
" การให้อาหารนกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้ "
การให้อาหารนกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
อาหาร การให้อาหาร และการดูแลรักษานก อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีพ การเลี้ยงนกก็เช่นกัน การให้อาหารนกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้ 1. อาหารจากธรรมชาติ 2. อาหารสังเคราะห์ 1. อาหารจากธรรมชาติ แบ่งเป็น 3 ชนิดได้แก่ 1.1 อาหารจากพืช ซึ่งจะช่วยให้คุณค่าทางอาหาร เช่น วิตามินต่างๆ ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ เช่น มะละกอสุก กล้วยสุกชนิดต่างๆ ผลตำลึงสุก แตงกวา ลูกไทร ลูกก้างปลา และผลไม้พื้นเมืองและผลไม้ป่าทั่วๆ ไป นกเลี้ยงก็เหมือนกับนกธรรมชาติทั่วๆ ไป หลักการให้อาหารก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่นกเลี้ยงมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ของการให้อาหารเพิ่มขึ้นมาอีก เช่นเดียวกับสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ ปกติไม่ว่าจะเป็นนกหรือไก่ที่หากินอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีอาการไม่สบายจะหายาสมุนไพรจากธรรมชาติมากินเอง เช่น พริกสด ยอดผักหวาน พริกไทยสด ฯลฯ สำหรับผลไม้ที่นำมาให้นก เช่น มะละกอสุก แตงกวา กล้วยน้ำว้า ต้องหมั่นเปลี่ยนให้นกใหม่ ทุกวัน เพราะ หากค้างคืน จะทำให้ผลไม้บูดเน่าเสีย มีรสเปรี้ยว อาจจะขึ้นรา หากนกกินเข้าไปอาจทำให้ท้องเสียได้ 1.2 อาหารจากสัตว์ ซึ่งจะให้คุณค่าทางอาหารด้านโปรตีน และแคลเซียมต่างๆ ได้แก่ แมลงต่างๆ เช่น จำพวกมด ไม่มดแดง แต่ต้องใช้ไข่และตัวอ่อนของมดเท่านั้น หากมีแก่อาจทำอันตรายนกได้ นอกจากนี้ยังมีจำพวกแมลง เช่น ตั๊กแตน ตัวหนอนต่าง สำหรับหนอนนก เมื่อก่อนผู้เลี้ยงนกมักจับตั๊กแตนตามธรรมชาติ ตัวสีขาวขนาดเล็ก ถึงกลางมาให้นกกินโดยการดึงปีกและขาหลังออก เพื่อป้องกันการติดคอ การให้นกกินตั๊กแตนจะทำให้นกคึกคักตื่นตัวตลอดเวลา แต่ในสภาพปัจจุบันวิธีการดังกล่าวนับว่าไม่สะดวก สำหรับผู้เลี้ยงนกที่อยู่ในเมือง และผู้ที่หน้าที่การงานรัดตัวมีเวลาน้อย การใช้หนอนนกที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดและร้ายขายนกทั่งไป จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้เลี้ยงนกอย่างสะดวกขึ้น ประโยชน์ของหนอนนก คือ เสริมโปรตีนให้แก่นก นกจะแข็งแรง สมบูรณ์ขึ้น อนึ่งกุศโลบายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการใช้หนอนนกเพื่อเลี้ยงนก คือ เพื่อฝึกความเชื่อแก่นกป่าที่นำมาเลี้ยง โดยใช้หนอนฝึกความเชื่อง ใช้หนอนเป็นตัวล่อ คือ ให้นกเข้ามากิน เมื่อทำบ่อยๆ ครั้ง นานๆ เข้านกก็จะมีความคุ้ยเคยมากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีเมื่อนำนกออกแข่งขัน เมื่อนกมีความเชื่อ จะไม่ตื่นสนาม ตื่นกรรมการ ตื่นกลุ่มคนที่เชียร์ 1.3 อาหารพิเศษจากผู้เลี้ยงปรุงขึ้นเอง เป็นอาหารที่ใช้เพื่อเสริมให้แก่นก นอกเหนือจากอาหารหลัก เพื่อให้นกมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ คึกคักตื่นตัวตลอดเวลาหรือเพื่อให้การรักษาอาการป่วยไข้ของนกให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น 1.3.1 ข้าวสวยสุกผสมแกงส้มภาคใต้ ผู้เลี้ยงนกในท้องถิ่นทางภาคใต้นิยมใช้เป็นอาหารเสริมให้นกกิน สรรพคุณนั้นกล่าวกันว่า เพื่อทำให้นกสมบูรณ์แข็งแรงคึกคักเร็วขึ้น และไม่ป่วย อาจเป็นเพราะเครื่องแกงส้ม มีส่วนประกอบของสมุนไพรหลายชนิดนั่นเอง 1.3.2 พริกสดแช่น้ำผึ้ง หั่นพริกขี้หนูสุดสดๆ เป็นชิ้นขนาดพอประมาณ ขนาดที่นกรับประทานได้พอดี (หากจะให้ดีต้องเป็นน้ำผึ้งป่าเดือนห้า เพราะ เป็นน้ำผึ้งที่อุดมไปด้วยน้ำหวานจากเกสรพืชพรรณสมุนไพรนานาชนิด) เป็นชิ้นขนาดพอประมาณขนาดที่นกรับประทานได้พอดี แล้วแช่ในน้ำผึ้งที่เตรียมไว้ เพื่อให้นกกิน ทำในลำคอนกโปร่งโล่ง ขับถ่ายสะดวก บางตำราบอกว่า เป็นการทำให้น้ำเสียงใสกังวานไม่แตกพร่า 1.3.3 อาหารสูตรที่ผู้เลี้ยงนกส่วนใหญ่ใช้ อีกสูตรหนึ่งคือ ใช้ไข่ต้มเอาเฉพาะไข่แดงนำไปตากให้แห้ง , ถั่วลิสงป่น หรือ ถั่วเหลือง , แคลเซียมสำหรับสัตว์ปีกกิน และนมผงที่ใช้เลี้ยงเด็ก นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าแล้วบดให้ละเอียด นำตากแดดให้แห้งสนิท เก็บไว้ในขวดปิดฝาให้สนิท ให้นกป่าหรือเลี้ยงนกใหม่ที่เพิ่งได้มา เพื่อให้นกมีความแข็งแรง ความสมบูรณ์ คึกคัก ขนสวยเป็นมันวาว 2. อาหารสังเคราะห์ อาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นอาหารเม็ดเล็กๆ บรรจุซอง จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด อาหารอัดเม็ดสำเร็จรูปมีประโยชน์ เพราะมีธาตุอาหารเสริมที่นกต้องการ เช่น โปรตีน แคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก และธาตุอื่นที่จำเป็น แต่ถ้าให้กินเกินไปจะทำให้นกอ้วนขี้เกียจไม่ค่อยปราดเปรียวเท่าที่ควร ส่วนอาหารสำเร็จรูปแบบอื่นๆ ที่มีแต่ไม่นิยมคือชนิดผง เพราะเมื่อนกกิน อาหารเป็นฝุ่นเข้าจมูก ทำให้นกจามได้



 

วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การเลี้ยงดูลูกนกกรงหัวจุกระยะต่างๆ
นกกรงหัวจุกเป็นนกที่มีอายุยืน จากการสอบถามผู้ที่เคยเลี้ยงนกกรงหัวจุกตั้งแต่ลูกนก จนมีอายุ 18 ปี นกกรงหัวจุกก็จะตาย แต่ถ้านกกรงหัวจุกที่อยู่ในธรรมชาติ มีอาหารการกินดีไม่ขาดแคลน ก็อาจจะมีอายุได้มากกว่านี้ก็เป็นไปได้ สำหรับการเลี้ยงนกกรงหัวจุกระยะต่างๆ มีดังนี้


การเลี้ยงดูลูกนกเกิดใหม่ 
ลูกนกที่เกิดใหม่ ก็จะมีวิธีการให้อาหารคือ
1.ใช้อาหารลูกไก่ ทำให้ละเอียด ป้อนให้ลูกนกกิน
2.ใช้กล้วยน้ำว้า ทำให้เละป้อนให้ลูกนกกิน
3.ใช้หนอนนก ป้อนให้ลูกนกหิน
การป้อนก็จะป้อนสลับกันไป ถ้าหากลูกนกยังร้องอยู่ในขณะป้อนก็แสดงว่าลูกนกยังไม่อิ่ม ก็ให้ป้อนอาหารจนกว่าลูกนกจะหยุดร้อง หรือดูว่าลูกนกกินอาหารมากพอสมควรแล้วก็หยุดป้อน เพราะถ้าลูกนกกินมากเกินไป ท้องจะแน่นจุดเสียดได้ นอกจากป้อนอาหารแล้ว ต้องป้อนน้ำให้ลูกนกด้วยและหัดให้ลูกนกกินอาหารเองบ้าง จนอายุ 15-20 วัน ขึ้นไปก็สามารถแยกลูกนกไปไว้ในกรงเดี่ยว และให้แขวนใกล้ลูกนกตัวอื่นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้ลูกนกตื่นกลัว เพราะจะรู้ว่ามีเพื่อนอยู่ข้างๆ

การเลี้ยงดูลูกนกในกรงลูกนกในกรงเริ่มกินอาหารเองได้แล้ว และมีสุขภาพแข็งแรงพออายุได้ประมาณ 40 วัน นกก็จะมีขนขึ้นเต็ม สีขนของนกก็จะเปลี่ยนเป็นสีเทา พอนกอายุได้ 100-120 วันขึ้นไป นกก็จะเริ่มผลัดขน ขนก็จะเปลี่ยนเป็นสีขาวสีน้ำตาล ต่อมาจะมีขนแดงใต้ตาและมีแก้มสีขาว มีแถบดำที่เรียกว่าสร้อยคอ ขนใต้หางจะเปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม ระยะนี้ต้องให้อาหารนกกินให้สมบูรณ์

การเลี้ยงนกหนุ่มเมื่อนกกรงหัวจุกผลัดขนจนเป็นนกหนุ่มที่สมบูรณ์แล้ว ส่วนต่างๆ ของร่างกายก็จะแข็งแรงเจริญเติบโตและสมบูรณ์ดี เมื่อนกเป็นหนุ่มจนถึงนกที่มีอายุมาก ในปีหนึ่งๆ นกกรงหัวจุกจะมีการผลัดขนปีละ 1 ครั้งขึ้นไป ขณะผลัดขนนกกรงหัวจุกจะคัน บางตัวก็ไซร้ขนออก บางตัวก็จิกขนให้ร่วง เมื่อขนจะร่วงนกกรงหัวจุกจะไม่สวย ควรจะนำนกไปไว้ในกรงผลัดขน ซึ่งความกว้าง ความยาว และความสูงของกรงจะใหญ่กว่ากรงเลี้ยงธรรมดาโดยเฉพาะจะดีที่สุด หรืออาจจะไปปล่อยไว้ในกรงพักนกใหญ่ก็ได้ ในช่วงผลัดขน นกกรงหัวจุกจะไม่ร้อง ถ้ร้องก็ร้องนิดหน่อย จนกว่าจะผลัดขนหมดก็จะเริ่มร้อง ซึ่งนกหนุ่มนี้จะร้องเพลงฟังได้ เมื่อมีอายุประมาณ 1 ปี

การเลี้ยงนกกรงหัวจุกที่อ้วนผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก เมื่อเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ก็จะให้อาหารการกินแก่นกเป็นอย่างดี กลัวนกจะหิว เพราะนกเมื่อได้มาใหม่จะผอม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุให้นกอ้วนไป เพราะนกกรงหัวจุกที่อ้วน จะขี้เกียจกระโดดออกกำลังกาย และขี้เกียจร้อง ดังนั้น จึงต้องลดความอ้วนของตัวนกลง โดยการให้อาการให้น้อยลง สิ่งที่ต้องให้น้อยหรือหยุดการให้นกกิน ได้แก่ กล้วยน้ำว้า และอาหารเม็ด และหนอนนก เพราะอาหารพวกนี้จะมีโปรตีนและไขมันสูง ควรงดการให้สักระยะหนึ่งจนกว่านกจะผอมลง ต้องให้อาหารจำพวก มะละกอสุก ลูกตำลึงสุก เพื่อให้นกถ่ายอุจจาระบ่อยๆ และให้นำนกไปตากแดดมากขึ้น เพื่อให้นกได้กระโดดไปมาเป็นการออกกำลังและร้อง จนกว่านกจะผอมเป็นปกติ นกก็จะคล่องแคล่วว่องไว สดใสแข็งแรง และร้องเพลงได้ดี










การเพาะนกกรงหัวจุก 
    
    การเพาะนกกรงแบบไม่ธรรมชาติ ตามที่ได้มีคนเพาะบนตึกสูง ๆ แล้วไม่ได้ผล มีปัญหาเช่น ไข่ฟักออก ฟักออกแล้วลูกนกตัวเล็ก แห้ง ไม่แข็งแรง ทั้ง ๆ ที่บำรุงเต็มที่แล้ว จึงมุ่งประเด็นไปที่ความชื้นในขณะฟัก ได้มีแนวคิดใหม่โดยการนำไปเข้าเครื่องฟักไข่ ใช้อุณหภูมิต่ำกว่าการฟักไข่ไก่ 1 องศา ปรากฏว่าลูกนกออกเป็นตัวแต่เลี้ยงรอดยากมาก ๆ( มีความพยายามมาก ) ทำยังไงดีละคราวนี้ ไม่มีที่สวน มีไร่กะเขาซะด้วย 
ก็นึกถึงที่ได้เคยพบนกในธรรมชาติได้ทำรัง มักจะอยู่ริมบึงหรือห้วย และมักจะเป็นหน้าฝนเสียเป็นส่วนใหญ่ว่าง ๆ ก็นำตำราการฟักไข่ไก่มานั่งอ่านแก้เหงา อ่านไปอ่านมา ไปสะดุดหัวข้อความชื้นในการฟัก ในตำราการฟักไข่ไก่ได้นำน้ำใส่ถาดมารองใต้ไข่ ก็เกิดความคิด น่าจะนำมาประยุกต์ใช้กันได้ 
นำรังที่แม่นกยังไม่ได้ไข่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกิ่งไม้แห้ง ๆ พร้อมรัง ออกมาดัดแปลง โดยหาขันน้ำพลาสติกขนาดเล็กที่มีตะข่ายปิดด้านบนกันลูกนกตกใส่น้ำ มาวางใต้รัง ห่างจากรังประมาณ 4 – 5 นิ้ว แล้วนำกลับไปวางที่เดิม รอจนแม่นกไข่จนครบแล้วจึงเติมน้ำที่สะอาดลงไปสักครึ่งขันก็พอ น้ำพร่องเมื่อใดก็เติมน้ำลงไปอีก 
ข้อควรระวัง 
1. ขณะเติมน้ำ ระวังน้ำกระเด็นโดนไข่อาจทำให้ไข่เสียได้ ให้ใช้ลูกยางดูดน้ำ ดูดใส่จะง่ายดีครับ 
2. ในช่วงหน้าหนาว ถ้าหนาวจัด ๆ กลางวันเติมน้ำ กลางคืนให้ดูดน้ำออก นกจะได้ไม่หนาวเกินไป 
ในบางรายที่เพาะชั้นล่างก็ไม่จำเป็นต้องทำแบบข้างต้น เพราะมีความชื้นจากไอดินอยู่ 
ในอนาคตเมื่อเพาะกันได้มาก ๆ รุ่นหลัง ๆ ก็จะไกลป่า เป็นนกรุ่นลูก ( รุ่น 1 ) รุ่นหลาน( รุ่น 2 ) รุ่นเหลน ( รุ่น 3 ) และต่อไปรุ่น 4 ไปเรื่อย ๆ แบบนกเขาชวา เราก็สามารถเพาะกันได้ง่าย การทำกรงเพาะก็ทำคล้ายกัน ไม่ต้องมีต้นไม้ ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเพาะมาก มีขันน้ำให้ความชื้นก็เพียงพอแล้ว อาจเป็นธุรกิจเกิดขึ้นก็ได้ 
เท่าที่เคยทำได้ 2 เดือน ได้ลูกนก 3 ครอก ได้ปริมาณ แต่คุณภาพไม่เป็นที่น่าพอใจ กำลังพัฒนาอยู่ให้มีคุณภาพตามมาด้วย จะเห็นได้ว่ามักมีคนกล่าวถึงลูกเพาะเล่นได้ไม่นานเหมือนลูกนกป่า ก็จะได้เหมือนได้อย่างไร นกป่าออกเป็นตัวได้ 7 วัน บินได้แล้ว ลูกเพาะ 7 วัน อยู่ในรังอยู่เลย ก็ตั้งข้อสังเกตไว้คือ อาหารเสริม ทำอย่างไรให้ได้ หรือเกือบได้อย่างธรรมชาติ กำลังทดลองอยู่ครับ หรือถ้ามีท่านใดเคยทดลองแล้วได้ผลมาก็กรุณาช่วยเเนะนำด้วยครับ 
ส่วนอาหารก็เหมือน ๆ ที่คุยกัน มีหนอน กล้วย มะละกอ วิตามินต่าง ๆ ขอบคุณบางเรื่องที่คุยกัน ทำให้ผมนึกอะไรออก ในเรื่องที่คิดไม่ออก.. 
ข้อสังเกตเพศนกขณะป้อนอยู่ 
เคยได้ลูกนกจากธรรมชาติมาเลี้ยงหลายครอกอยู่เหมือนกัน ถ้าเป็น 3 ตัว ตัวกลาง และตัวน้องจะเป็นตัวผู้ และตัวพี่มักจะเป็นตัวเมีย ถ้าเป็นรังที่มี 2 ตัว ตัวน้องมักจะเป็นตัวผู้เสมอ แต่มีพ่อแม่พันธ์บางตัว ตัวโตมาก มักจะออกไข่ได้ถึง 5 ฟอง อันนี่ไม่ทราบว่าตัวไหนเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย แต่มักจะมีตัวเมียถึง 2 ตัว จะรู้ได้ตอนเป็นไข่ที่กล่าวมาข้างตนแล้ว 
แต่ที่เพาะได้กลับกันตัวเมียเป็นตัวสุดท้องทุกครอก ซึ่งเหมือนกันกับการเพาะนกเขาใหญ่ ทีนี้ก็คงจะถึงบางอ้อ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปครับ แต่ส่วนใหญ่เป็นอย่างที่กล่าวมา 
และคงจะสงสัยต่อว่าตัวไหนตัวพี่ตัวไหนตัวน้อง สังเกตหางลูกนกครับ หางสั้นตัวน้อง หางยาวตัวพี่ หางไม่ยาวกว่าใครและไม่สั้นกว่าใคร ตัวกลาง แฮะ ๆ 
ที่ได้ลงรายละเอียดมาแบบไม่ปิดบัง เพราะอย่างให้ทันวงการเพาะนกอื่นเขา มีหลายคนที่ประสบผลสำเร็จไปแล้วและมีหลายคนเพิ่งเริ่ม และกำลังทำอยู่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่มีพื้นที่ไม่อำนวยก็มีโอกาส ได้เห็นผลงานตัวเองเหมือนกัน 





กฏหมายเกี่ยวกับนก

        ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้นกปรอดทั้ง 36 ชนิด ที่พบในเมืองไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทนกที่ผู้ครอบครองต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง ส่วนการประกวดนกปรอดหัวโขนนั้นต้องปฏิบัติตามประกาศกรมป่าไม้ เรื่องการประกวดแข่งขันนกปรอดหัวโขน ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 โดยอธิบดีกรมป่าไม้ที่ระบุว่า
        "ผู้ใดจะนำสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดนกปรอดหัวโขน หรือสัตว์ป่าอื่นๆ เข้าประกวดแข่งขัน จะต้องนำเอกสารการแจ้งการครอบครองตามมาตรา 66 หรือ 67 ซึ่งได้จดแจ้งต่อกรมป่าไม้แล้วภายในเดือนพฤษภาคม 2535 และต้องนำเอกสารดังกล่าวติดตัวสัตว์ป่าไปด้วยทุกครั้ง และผู้ที่นำสัตว์ป่าไปเข้าประกวดแข่งขันจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารดังกล่าวข้างต้น หรือผู้เข้าประกวดนำสัตว์ป่าคุ้มครองอื่นไปแข่งขัน หรือมีการตกลงกันซื้อขายสัตว์ป่าคุ้มครองภายในสถานที่ประกวด จะมีความผิดตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือทั้งจำทั้งปรับไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
" เสน่ห์ของการเลี้ยงนกหัวจุก "
เสน่ห์ของการเลี้ยงนกหัวจุก
ถ้าจะถามแต่ละคนว่า ทำอะไรถึงจะมีความสุขที่สุด แน่นอน ทุกๆ คนก็จะตอบไม่เหมือนกัน เพราะต่างจิตต่างใจกัน ความชอบก็จะไม่เหมือนกัน ผู้เขียนเองมีทีมงานกลุ่มอนุรักษ์นกกรงหัวจุกฟ้าตรัง ซึ่งตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของผู้รักนกกรงหัวจุกหลายๆ ท่าน ทั้งนี้ยังรวมถึงผู้รักนกกรงหัวจุกทั้งหลายทั่วประเทศ ซึ่งมีความรักและชื่นชมในองค์ประกอบต่างๆ ของนกกรงหัวจุก อันประกอบด้วย ความงดงามในรูปร่างลีลา เนื่องจากนกกรงหัวจุกเป็นนกขนาดเล็กที่คล่องแคล่ว ปราดเปรียว มีสีสันสวยงาม สำนวนเพลงร้อง ถ้าฟังกันให้ดี แต่ละเพลงที่นกร้องออกมาจะไม่ค่อยซ้ำกัน หมุนเวียนกันไป ทำให้ฟังไม่เบื่อ ยิ่งเมื่อนกอยู่ในกรงที่สวยงาม และกระโดดโลดเต้นไปตามลีลาอันเป็นธรรมชาติ ก็จะยิ่งน่าดู เป็นการสร้างความประทับใจและสบายใจให้กับเจ้าของอย่างมาก ได้พักผ่อน พบปะเพื่อนฝูงในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นการผ่อนคลายความเครียดที่ดี อีกวิธีหนึ่ง ยิ่งถ้ามีการแข่งขัน และนกของเราได้รับรางวัลด้วย ก็จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ทั้งนี้ยังรวมถึงแม่บ้านและลูกๆ ด้วย เพราะปัจจุบันทางภาคใต้นิยมจัดรางวัลเป็นของใช้ เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์สี หม้อหุงข้าวไฟฟ้า พัดลม รถจักรยาน และของใช้อื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเจ้าของนกได้รางวัลเหล่านี้กลับบ้าน ก็จะเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวอีกด้วย สร้างความภูมิใจ ในลักษณะที่เราสามารถเพาะพันธุ์ได้เองภายในบริเวณบ้าน ข้อนี้สำคัญมาก เนื่องจากบัจจุบัน หลายๆ ท่านพยายามจะช่วยกันขยายพันธุ์นกให้มีจำนวนมากขึ้น ถ้าเราทำได้สำเร็จ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้อนุรักษ์นกกรงหัวจุกได้สำเร็จอย่างแท้จริง ประกอบเป็นอาชีพ ท่านที่สนใจสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับนกได้ไม่ยาก เช่น - เพาะพันธุ์ลูกนกขาย - ขายอุปกรณ์เลี้ยงนก เช่น อาหารนก ผ้าคลุมกรง ถ้วยน้ำ และอื่นๆ - ทำกรงนกขาย สำหรับท่านที่มีฝีมือก็สามารถทำกรงนกขายได้ ทำให้มีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำโดยไม่ยากเลย เพราะปัจจุบันสะดวกกว่าสมัยก่อนมาก เนื่องจากมีชิ้นส่วนในการทำกรงขายทุกอย่าง เราสามารถนำมาประกอบเป็นกรงแข่งขันขายได้เลย ในลักษณะโชคลาภ มีผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกจำนวนไม่น้อยเลยที่ได้นกมาแล้วเลี้ยงดูอย่างดี ไม่ยอมขายหรือให้ใครไปเลย เนื่องจากเป็นการถือโชคลาง ผู้เขียนเคยคุยกับเจ้าของนกผู้มีอันจะกินหลายๆ ท่านถึงความเชื่อในตัวนก โดยเฉพาะนกที่มีลักษณะพิเศษกว่าตัวอื่นๆ เช่น หัวมีสีขาว ขนสีขาวทั้งตัวหรือขาวเพียงบางส่วน เจ้าของนกบอกว่า ตั้งแต่ได้นกมา ปรากฎว่ากิจการต่างๆ ที่ทำอยู่ประสบผลสำเร็จอย่างดี มีกำไรมากขึ้น ก็เลยสั่งทำกรงไม้ฝังมุกอย่างดีราคาหลายหมื่นให้นกอยู่ได้อย่างสบาย ตอนนี้ฐานะก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เคยมีคนมาขอซื้อเท่าไรก็ไม่ยอมขาย ซึ่งก็เป็นความเชื่อและแนวความคิดของแต่ละท่าน เรื่องนี้ต้องให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาและใช้หลักการเหตุผลคิดเอา





วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การฝึกนกกรงหัวจุกเพื่อเข้าแข่งขัน
        หลังจางที่เลี้ยงและฟูมฟักดูแลรักษานกมาเป็นอย่างดีแล้วควรเริ่มซ้อม แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดด เมื่อแขวนนกแล้วลองสังเกตว่านกเริ่มสู้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่สู้ให้ยกนกออกไปจากราวไปแขวนไว้ที่อื่นห่างออกไปแขวนไว้ที่อื่นห่างออกไปก่อน เพราะหากยังแขวนไว้จะทำให้นกแพ้และไม่สู้นกตัวอื่นอีกเลย ต้องขยันหิ้วนกไปเที่ยวและต้องซ้อมบ่อยๆโดยซ้อมสัปดาห์ละ1-2 วัน ช่วงเวลาการซ้อมเพียงเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความเคยชินกับสนามแล้วจึงแยกออกไปแขวนห่างๆ เพื่อให้นกเกิดความคึกคะนองก่อนจะนำนกไปเที่ยวหรือไปสนามซ้อม ต้องใช้ผ้าคลุมกรงนกทุกครั้ง เพื่อให้นกตื่นตกใจน้อยที่สุด
        ควรเปลี่ยนกรงนกบ่อยๆ เพื่อให้นกคุ้นเคยกับการเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ป้องกันการตื่นตกใจกลัวเนื่องจากความไม่ชินกับสภาพกรงที่ผิดแผกไปจากเดิม ทำให้นกมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลาในวันปกติให้แขวนนกแต่ละตัวให้ห่างกัน เพื่อไม่ให้เห็นกัน ให้ได้ยินแค่เสียงร้องก็พอ เพื่อนกจะได้คึกคัก
        ให้นกอาบน้ำในเวลาบ่ายหรือยามเย็นประมาณ 15.00-17.00 น แต่งตัวและตากขนให้แห้งสนิทก่อนจะเก็บไว้ทุกวัน เพื่อเพิ่มความสวยงามและปลอดโปร่งสบายให้แก่นก เพราะนกกรงหัวจุกชอบความสะอาดดูแลความเรียบร้อยของตังเองอยู่เสมอต้องเปลี่ยนน้ำกินและน้ำอาบทุกวัน ล้างถาดรองขี้นกทุกวัน กรงสะอาดจะทำให้นกสดชื่นคึกคัก ให้ลองสังเกตดูว่าหากนกไม่ได้อาบน้ำและไม่ล้างทำความสะอาดหลายๆวันนกจะสลัดขนอ่อนบนลำตัวออกและมีอาการซึม
        ขณะที่แขวนนกตัวที่มีท่าทีว่าจะคึก ให้หมั่นเอานกล่อนกที่ไม่สู้ หรือไม่คึกไปเทียบบ่อยๆ ให้ห่างกันเล็กน้อย เพื่อให้นกมีอาการคึกคักพร้อมจะสู้และสร้างความมั่นใจว่าตังเองขู่ตัวอื่นได้ นกจะมีความมั่นใจและเก่งมากขึ้น เมื่อนำไปแขวนที่ราวซ้อมนกจะพร้อมต่อสู้กับตัวอื่นตลอดเวลาโดยไม่กลัว เนื่องจากนกมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันเพื่อเป็นการเรียนรู้นิสัยของนก เราจึงต้องสังเกตและเอาใจใส่เพื่อจะได้รู้จักนกของเราอย่างแท้จริง เช่น ชอบกระโดดเกาะหรือชอบวิ่งถ้วย ซึ่งจะมีผลอย่างมากเมื่อนำนกไปแข่ง นกจะพร้อมสู้ตลอดเวลาไม่เบื่อหน้ากันให้ใช้ผ้าคลุมกรงนกเพื่อให้นกพักผ่อนได้เต็มที่
        ก่อนถึงวันแข่งขัน1-2วันให้เปลี่ยนกรงนกที่เป็นกรงแข่งมีลวดลายสวยงาม ซึ่งเตรียมไว้เฉพาะเพื่อความคุ้นเคย วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้เริ่มเลี้ยง ซึ่งเตรียมไว้เฉพาะเพื่อความคุ้นเคย วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้เริ่มเลี้ยง ซึ่งยังไม่มีนกที่ดีและเก่งพอที่จะเป็นนกครูฝึกได้

การแข่งขันนกกรงหัวจุก

        ปัจจุบันการแข่งขันนกกรงหัวจุกมี 2 รูปแบบคือ แบบสากล กับ แบบทั่วไปหรือแบบสี่ยก

การแข่งขันแบบสากล

        การแข่งขันแบบสากลส่วนใหญ่จะเน้นที่ความงดงามสมส่วนหรือมีลีลาสง่างามหรือไม่ และสำนวนเพลงร้องของแต่ละตัวดีหรือไม่อีกทั้งการแข่งขันแต่ละครั้งจะไม่จำกัดยกแต่จะใช้จำนวนนกที่เข้าร่วมเป็นเกณฑ์ การแข่งขันจะใช้กรรมการ 3 คนต่อชุด ทำหน้าที่คัดเลือกนกออกให้เหลือเท่าจำนวนรางวัลที่จัดเอาไว้ กรรมการทั้ง 3 คนจะยึดกฎกติกาอันเดียวกัน โดยจะเดินวนรอบๆ ราวแขวนนกระยะพอประมาณ กรรมการ 1 คนจะสังเกต 6-9 ตัว รอบแรกจะคัดเอานกตัวที่ไม่ร้องหรืออยู่นิ่งๆ ขนพองฟูออก เพราะแสดงว่าไม่มีใจสู้ ไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับนกตัวที่อยู่รอบๆ ข้างเลย กรรมการก็จะจดหมายเลขนกตัวนั้นเอาไว้ ถ้านกตัวใดถูกกรรมการ 2-3 คนจดหมายเลยซ้ำกันถือว่าตกรอบ นกที่เหลือจะถูกยุบเข้าไปอยู่บนราวเดียวกัน เมื่อเหลือจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ จะสังเกตว่ายกที่ 1-3 นั้นนกที่ตกรอบเป็นนกที่ไม่ร้องไม่โชว์ลีลาอะไร
        ยก 4 กรรมการจะเน้นไปที่เสียงร้องเป็นพิเศษ นกที่ผ่านยก 1-3 มาได้ แต่ถ้าไม่มีเสียงร้องในยกที่ 4 แม้จะมีลีลาดีเพียงใดก็ต้องตกรอบไปเพราะก่อนเข้ารอบรองชนะเลิศกรรมการจะพิจารณาเสียงเป็นหลัก พอคัดเลือกนกเหลือเท่ารางวัลกรรมการจะหยุดพัก 5 นาที ให้เวลาเจ้าของนกหรือพี่เลี้ยงทำนกให้สดชื่นตื่นตัวและคึกคักพร้อมเข้าแข่งรอบชิงชนะเลิศ ในช่วงเวลา 5 นาทีนี้ สิ่งที่เจ้าของนกส่วนมากจะทำกันคือป้อนอาหารจำพวกเรียกพลังเช่นตักแตนหนอนให้นกอิ่มมีพลังร้องอย่างเต็มที่ในยกต่อไป และนำอาหารนกที่เหลือในกรงออกเพื่อให้สนใจร้องอย่างเดียวไม่มัวกินอาหาร พร้อมทั้งเปลี่ยนน้ำให้นกใหม่เพราะน้ำใช้มาตั้งแต่เช้าสกปรกและร้อนเกินไป หรืออาจจะมีวิธีอื่นอีกก็แล้วแต่เจ้าของ
        รอบชิงชนะเลิศกรรมการแต่ละคนจะใช้วิธีเดินรอบสนามหรือราวนกเพื่อให้คะแนนหลายๆ รอบจนครบหมดทุกตัว ในการตัดสินรอบแรกจะดูนกที่ร้องก่อนตัวอื่นๆ โดยเดินวนตามหลังกันเว้นระยะห่างพอประมาณไปในทิศทางเดียวกัน ใช้ระยะเวลาในการเดินให้คะแนนคนละเท่าๆ กันคือ 1 นาทีต่อ 1 ล๊อก ดูนกประมาณ 3 ตัว เมื่อพบนกตัวใดร้องก็จะจัดการให้คะแนนตามแบบฟอร์มโดยจะดูลักษณะการร้อง(เสียงร้อง) และลีลาการร้องประกอบกัน ส่วนนกที่ไม่ร้องในการเดินรอบแรก กรรมการก็จะยังไม่ให้คะแนน แต่ในรอบที่ 2 กรรมการจะต้องให้คะแนนนกให้ครบทุกตัวแม้ว่าจะไม่ร้องก็ตาม เมื่อกรรมการแต่ละท่านตัดสินนกจนครบทุกตัวก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการให้คะแนน และสรุปผลการตัดสินต่อไป

การแข่งแบบ 4 ยก

        การแข่งขันแบบนี้ถือกำเนิดขึ้นในแถบจังหวัดชายแดนไทยมาเลเชีย ก่อนจะเริ่มเป็นที่นิยิมขึ้นมาทางภาคใต้ตอนล่าง และแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
        การแข่งขันนกกรงหัวจุกประเภทนี้นิยมแข่งการแข่งขันออกเป็น 5 ยก ให้ใช้ยกที่ 1-4 ในการคัดเลือกนกออก และในยกที่ 5 คือยกสุดท้ายเป็นช่วงเวลาในการชิงความเป็นหนึ่งในสนามแข่ง กรรมการที่ใช้ในการแข่งขันจะมีทั้งหมด 4 คน โดยมีการจัดแบ่งหน้าที่กัน โดย 2 คนทำหน้าที่ดูว่านกตัวใดร้องหรือไม่ร้องบ้าง อีก 1 คนจะคอยให้คะแนนที่ร้อง โดยถ้านกร้อง 3 พยางค์ขึ้นไปให้ 5 คะแนน ไม่ร้องให้ 4 คะแนน
        ในสนามหนึ่งๆ จะแบ่งล๊อคเป็น 2 ล๊อค กรรมการจะมี 2ชุด เริ่มเดินวนจากซ้ายสุดและขวาสุดเข้าหากัน เมื่อให้คะแนนล๊อคของตนเสร็จก็จะเปลี่ยนไปให้คะแนนในล๊อคถัดไป กรรมการแต่ละท่านจะใช้เวลาเพียง 1 นาที ในการให้คะแนนนกในล๊อคตรงหน้าของตน เมื่อครบ 1 นาที จะมีสัญญาณนกหวีดดังขึ้น การให้คะแนนวิธีนี้จึงได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐาน ส่วนหลักการให้คะแนนก็มีต่อไปนี้
        เมื่อกรรมการแต่ละท่านให้คะแนนนกทุกตัวครบแล้วก็จะติดผลคะแนนบนบอร์ด ให้เจ้าของนกทราบ นกตัวใดได้ไม่ถึง 20 คะแนน ถือว่าตกรอบไปตามระเบียบ
        ในรอบชิงชนะเลิศกรรมการแต่ละคนจะดูเฉพาะนก 2 ตัว ตรงหน้าของตนเท่านั้น โดยใช้เวลา 1 นาทีเท่าเดิม ในการพิจารณาให้คะแนนเสียงร้อง การนับดอกโดยหนึ่งดอกก็นับตั้งแต่ 3 พยางค์ขึ้นไป เมื่อสิ้นสุด 1 นาที จะมีสัญญานนกหวีดดังขึ้นเหมือนเดิม จนกระทั่งสิ้นสุดการให้คะแนนของกรรมการแต่ละท่านพร้อมๆ กัน ในการสรุปคะแนนรอบชิงกรรมการนิยมนับคอกว่านกตัวใดจะมีคะแนนเยอะกว่า หรือถ้าหากตัวใดจิกต่อหน้ากรรมการก็จะตัดสินให้นกตัวนั้นชนะไปเลย แต่ก็ต้องมีการนับดอกไปจนกว่าจะหมดเวลาเพื่อไม่ให้มีการเสมอกัน ในกรณีที่มีนกจิกใส่หน้ากรรมการมากกว่า 1 ตัว กรรมการจะตัดสินโดยการนับดอกใส่เข้าไปด้วย ซึ่งการแข่งขันนกแบบ 4 ยก นี้จะไม่ค่อยเน้นในเรื่องของความสวยงามแต่จะเน้นไปในการลองน้ำเสียงเพลงร้องมากกว่า
        นอกจากนี้ยังมีการประกวดประชันหรือโชว์กรงด้วย ว่ารูปทรงของกรงนกที่นำมาเข้าประกวดสวยงามมีลวดลาย หรือมีรูปร่างที่แปลกตา และมีราคาแพงอย่างไร
        โดยนกกรงหัวจุกที่มีสุขภาพดีก็จะร้องได้ทั้งวัน ยกเว้นนกที่ป่วย แต่การจะร้องได้เป็นเพลงสั้นหรือยาวได้อย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน อาทิ การฝึกสอน และอารมณ์ของนก นกกรงหัวจุกตัวผู้จะร้องได้เป็นเพลงยาวๆ นกกรงหัวจุกตัวเมียจะร้องได้ไม่เป็นเพลง ร้องได้เป็นคำสั้นๆ ในเวลาที่นกกรงหัวจุกร้อง จะมีลักษณะดังนี้คือ ปากจะอ้าเต็มที่ ขนคอสีขาวจะพองออกมาดูสวยงาม ขาที่จับคอนเกาะจะเหยียด ลำตัวจะตั้ง หางจะสั่นและกระดกเข้าหาคอนที่เกาะ เหล่านี้เป็นต้น






วิธีการดูแลนกกรงหัวจุก

 อาหาร

        ในตอนเช้า เปิดผ้าคลุมกรงนกออก แล้วเปลี่ยนอาหารให้นกกินใหม่ โดยการผ่ากล้วยน้ำว้าสุก มะละกอสุก มะเขือเทศสุก ลูกตำลึงสุก แตงกวา บวบ ออกเป็นครึ่งลูก หรือทำเป็นชิ้น ๆ ถ้าเป็นลูกตำลึงลุกก็ให้ทั้งลูกเลย การให้อาหารควรจะสลับกันไปวันละ 2 ชนิด เพื่อกันไม่ให้นกเบื่ออาหาร สำหรับอาหารเม็ดก็ใส่ไว้ในถ้วยอาหาร อาจจะไม่ต้องให้ทุกวัน 

 สังเกตดูขี้นก
        ในตอนเช้า เมื่อเปิดกรงนกหัวจุก ให้สังเกตดูขี้นก หากขี้นกเป็นแบบขี้จิ้งจก คือเป็นเม็ดสีขาวดำ แสดงว่านกเป็นปกติ แต่ถ้าขี้นกเป็นขี้เหลว หรือขี้เป็นน้ำ ก็แสดงว่านกเป็นโรคต้องรีบรักษาทันที

 น้ำ

        ให้เอาน้ำเก่าทิ้งไป แล้วเอาน้ำใหม่ใส่ให้เกือบเต็มถ้วย เพราะน้ำเก่าอาจจะสกปรก

 นำนกกรงหัวจุกไปตากแดด

        ในตอนเช้าผู้ที่เลี้ยงนกกรงหัวจุกจะต้องรู้วิธีการยกกรงนกไปแขวน โดยมีวิธีการยกคือ มือหนึ่งจะต้องหิ้วที่ตะขอกรงนก เมื่อไปถึงชายคาบ้าน หรือราวที่จะแขวนกรงนก หรือกิ่งไม้ หรือราวที่ฝึกซ้อม และราวที่จะแขวนนกประกวดแข่งขันแล้ว ก็ใช้มือข้างที่ถนัดจับที่มุมกรงมุมใดมุมหนึ่งที่เป็นเสากรง เพราะซี่ลูกกรงจะบอบบางไม่แข็งแรงและหัดได้ จากนั้นก็ยกกรงนกขึ้นชู โดยดูที่ตะขอแขวนนกว่าตรงกับที่แขวนหรือราวแล้วหรือยัง ถ้าตรงกบที่แขวนและราวแล้ว ก็ให้ปล่อยมือลง
        ข้อควรระวัง อย่าแขวนนกที่มีอายุน้อยใกล้กับนกที่มีอายุมาก ซึ่งนกที่มีอายุมากจะข่มขู่นกที่มีอายุน้อยกว่า เพราะนกสามารถจะจำเสียงได้ และจะตื่นแล้วการที่จะนำนกไปแขวนไว้นี้ เพื่อให้นกได้กระโดดไปมาออกกำลังกาย และเพื่อให้นกร้อง จนถึงตอนบ่าย จึงจะเก็บนกไว้ในที่ร่มต่อไป ถ้าเป็นลูกนกและนกหนุ่ม ค่อย ๆ เพิ่มเวลาแขวนตากแดดวันละ 1 ชั่วโมง เป็นวันละ 2 ชั่วโมง และตากแดดไว้นานขึ้นจนนกเคยชิน เพราะเวลานำนกกรงหัวจุกเข้าประกวดแข่งขันต้องใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง กว่าจะประกวดเสร็จ เพราะนกต้องตากแดดตลอดเวลาการประกวด

 เก็บนกไว้ในที่ร่ม

        หลังจากให้นกตากแดดตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงตอนบ่าย ก็ให้เก็บนกและกรงนกไว้ในที่ร่ม ให้ทำความสะอาดกรง และอื่นๆ ดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555


วิธีการดูเพศของนกกรงหัวจุก

นกกรงหัวจุกตัวผู้

  • จุกที่หัว - ขนจุกบนหัวใหญ่จุกที่อยู่บนหัวมีโคนจุกใหญ่แล้วเริ่มเล็กเรียวขึ้นไปปลายจุกแหลมและปลายจุกจะชี้ไปทางหัวของนก
  • หัว - มีหัวและใบหน้าใหญ่
  • ปาก - มีสีดำเป็นมันและปลายปากงอเล็กน้อย
  • ตา - ดวงตากลมและใส สีดำ
  • ขนแดงใต้ตา - เป็นสีแดงฟูเป็นกระจุกใต้ตา
  • ขนแก้ม - เป็นกระจุกสีขาวฟูใหญ่กว่าขนแดงใต้ตา
  • คอ - ขนาดของคอตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียทำให้ร้องเสียงดี และร้องได้นานกว่าตัวเมีย จึงสามารถร้องเป็นเพลงได้หลายคำ
  • ขนคอด้านบน - จะเป็นขนสีดำเรียบ
  • ขนคอด้านล่าง - เป็นขนสีขาวสะอาดและขนฟูเป็นปุยเหมือนสำลีนูนออกมา
  • สร้อยคอ - จะมีสีดำเป็นแถบจากคอพาดลงมาที่หน้าอก ที่ปลายสร้อยคอมองดูแล้วจะมีลักษณะออกแหลมแต่ไม่ค่อยเด่นชัดนัก
  • อก - มีอกใหญ่ขนหน้าอกมีมากกว่าตัวเมียโดยใช้ปากเป่าอกดูขนหน้าอก
  • ขนที่หัวปีก - มีขนที่หัวปีกสีน้ำตาลดำ มีขนหางจำนวน 12 เส้น
  • หาง - ขนหางมีสีน้ำตาลดำ มีขนหางจำนวน 12 เส้น
  • เสียงร้อง - เสียงร้องจะใหญ่และดังกังวานร้องได้ 3-7 พยางค์

นกกรงหัวจุกตัวเมีย

  • จุกที่หัว - ขนบนจุกจะเล็กกว่าตัวผู้จุกที่อยู่บนหัวมีโคนจุกเล็กกว่าตัวแล้ว เริ่มเรียวขึ้นไปปลายจุกแหลมแต่ปลายจุกจะชี้มาทางด้านหลัง
  • หัว - มีหัวและใบหน้าเล็กกว่าตัวผู้
  • ปาก - มีปากสีดำเป็นมันและปลายปากงอเล็กน้อย
  • ตา - ดวงตากลมและใสสีดำ
  • ขนแดงใต้ตา - เป็นขนสีแดงฟูเป็นกระจุกใต้ตา
  • ขนแก้ม - เป็นกระจุกฟูใหญ่กว่าขนแดงใต้ตา
  • คอ - ขนาดของคอเล็กกว่าตัวผู้ทำให้ร้องเสียงไม่ดี ร้องได้ไม่นาน จึงทำให้ร้องไม่เป็นเพลง
  • ขนคอด้านบน - จะเป็นขนสีดำเรียบ
  • ขนคอด้านล่าง - เป็นขนสีขาวสะอาดและขนฟูเป็นปุยเหมือนสำลีนูนออกมา
  • สร้อยคอ - จะมีสีดำเป็นแถบจากคอพาดลงมาที่หน้าอก ที่ปลายสร้อยคอมองดูแล้วจะมีลักษณะไม่แหลม
  • อก - มีอกเล็กกว่าตัวผู้ และขนหน้าอกจะมีน้อยกว่าตัวผู้ โดยใช้ปากเป่าดูขนหน้าอก หนังที่อกของตัวเมียจะเนียนละเอียดเกลี้ยงกว่าตัวผู้
  • ขนที่หัวปีก - ขนที่หัวปีกไม่มีสีแดงทั้ง 2 ข้าง
  • หาง - ขนหางมีสีน้ำตาลดำ มีขนหางจำนวน 9-10 เส้น
  • เสียงร้อง - ขนหางมีสีน้ำตาลดำ มีขนหางจำนวน 9-10 เส้น
นกกรงหัวจุก เสียงร้องอันมีมนต์ขลัง

           เมื่อพูดถึงสัตว์ที่มีเสียงร้องอันไพเราะ แทบปฏิเสธไม่ได้ว่า นกกรงหัวจุก จัด อยู่ในอันดับต้นๆ ปัจจุบันวงการ นกกรงหัวจุก จัดได้ว่าเป็นวงการที่ได้รับความนิยมจากคนไทยเป็นจำนวนมาก มีการจัดรายการแข่งขันติดกันและต่อเนื่องตลอดทั้งปี และมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมแพร่ขยายมากขึ้น

           นกกรงหัวจุก มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "นกปรอดหัวโขนเคราแดง" หรือ "นกพิชหลิว" มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Pycnomotus Jocosus เป็นนกที่มีการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 17 ให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ นกปรอดมีมากมายหลายชนิด วงศ์นกปรอด (Family Pycnonotidae) เป็นนกที่มีชนิดมากที่สุด พบมากที่สุดคือประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบนกปรอดประมาณ 36 ชนิด โดยที่นกปรอดทั่วโลกมีประมาณ 109 ชนิด นกกรงหัวจุก มีชื่อเรียกหลายชื่อแตกต่างกันไปตามภาค อย่างภาคใต้โดยเฉพาะ จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า "นกกรงหัวจุก" หรือ "นกกรง" ภาคเหนือเรียกว่า "นกปริ๊ดเหลว" หรือ "นกพิชหลิว" ส่วนภาคกลางเรียกว่า "นกปรอดหัวจุก" หรือ "นกปรอดหัวโขน"

           นกกรงหัวจุก เป็น นกที่มีสีสันสวยงาม ขนที่ตัวมีสีดำอมน้ำตาล มีขนจุกที่หัวตั้งตรง ปลายจุกที่ติดกับลำคอมีสีดำสนิท ที่แก้มมีขนสีขาว และมีจุดสีแดงที่ข้างตาทั้ง 2 ข้าง โคนหางล่างมีสีแดง นกกรงหัวจุก มีเสียงร้องไพเราะ คนนิยมนำมาเลี้ยงไว้ฟังเสียงร้อง และนำมาแข่งขันประชันลีลาการร้องของสำนวนเสียงว่า นกกรงหัวจุก แต่ละตัวว่าใครจะเหนือกว่ากัน

           ถิ่นอาศัยของ นกกรงหัวจุก อยู่ในแถบประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น ในทวีปเอเชียส่วนใหญ่พบ นกกรงหัวจุก ได้ในประเทศจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ในประเทศไทยเราจะพบ นกกรงหัวจุก ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบ นกกรงหัวจุก อาศัยอยู่ตามชายป่า ทุ่งหญ้า พื้นที่เกษตรกรรม และตามแหล่งชุมชนในชนบท โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน



ชาติแรกที่นำนกกรงหัวจุกมาเลี้ยงคือชาวจีน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2410 ในประเทศไทยเริ่มนิยมเลี้ยงประมาณ พ.ศ. 2504 ที่ภาคใต้ แต่ จะนำมาเล่นให้นกตีกันต่อสู้กันแบบเดียวกับไก่ชน จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2515 จึงได้คิดเล่นแบบใหม่ โดยให้แข่งขันเสียงร้อง จากนั้นจึงได้แพร่หลายมาที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ส่วนที่ภาคอีสานมีค่อนข้างน้อย นกกรงหัวจุกเป็นที่นิยมของคนภาคใต้มายาวนาน และสืบทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน จนเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านทางภาคใต้ จึงเห็นมีกรงนกแขวนตามบ้านเรือนประชาชนแทบทุกบ้าน และมีการตั้งเป็นชมรมทุกจังหวัด

           การแข่งขัน นกกรงหัวจุก ได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่มีผู้คนให้ความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการจัดงานแข่งขันประชันเสียง นกกรงหัวจุก กัน ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ในแต่ละสัปดาห์จะมีรายการแข่งขันทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 5 สนาม มีชมรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับ นกกรงหัวจุก ทั่วประเทศนับเป็นร้อยๆ ชมรม 

           นกกรงหัวจุก ที่จะนำเข้าแข่งขันนั้นต้องเป็น นกกรงหัวจุก ตัวผู้ เพราะ นกกรงหัวจุก ตัวเมียจะร้องไม่เป็นเพลง โดย นกกรงหัวจุก ที่ เลือกมานั้นต้องมีลักษณะรูปร่างและน้ำเสียงที่ดี ตัวอย่างเช่น มีรูปร่างเหมือนปลีกล้วยขณะที่ปลียังเล็กอยู่ ปากของนกทั้งด้านบนและด้านล่างควรจะใหญ่ ซึ่งทำให้มีเสียงดังกังวาน ลำคอต้องใหญ่ หน้าอกต้องใหญ่ ซึ่งหมายถึงปอดของนกจะใหญ่ จะร้องได้ทนและนาน ลักษณะขน หางต้องสวยงามตามตำรา เป็นต้น

           การร้องของ นกกรงหัวจุก ต้องเปล่งเสียงร้องเต็มที่ เสียงเป็นเพลงเหมือนเสียงดนตรี เสียงของ นกกรงหัวจุก ที่ดีควรจะเป็นเสียงใหญ่ ถัดมาก็เสียงกลางและเสียงเล็ก ซึ่งก็แล้วแต่ถิ่นกำเนิดของ นกกรงหัวจุก นั้นๆ เพลงของนกกรงหัวจุกต้องมีคำหรือ 3 คำขึ้นไปจนถึง 7 คำ ซึ่งนกที่ร้องเพลงได้ 3 - 5 คำ เป็นนกแบบธรรมดา นกที่ร้องเพลงได้ 6 - 7 คำ จะเป็นนกที่หายาก จังหวะและคำร้องแต่ละคำต้องสม่ำเสมอและชัดเจน ในภาพรวมการร้องของ นกกรงหัวจุก คือ ขณะร้องเพลงต้องมีท่าที ลีลาสวยงามไปทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นปาก คอ อก หาง ขา หน้าตาสดชื่นแจ่มใส ดวงตาแจ่มใส ขาเหยียด ลำตัวนกตั้ง หน้าเชิด ขนอกฟู หางกระดก น้ำเสียงดังฟังชัดเป็นจังหวะจะโคนที่ดี สม่ำเสมอและต่อเนื่อง

           ลักษณะดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผู้เลี้ยง นกกรงหัวจุก หลงใหลในเสน่ห์ จนทำให้เกิดความรัก สนใจเลี้ยง นกกรงหัวจุก เพื่อการประกวดประชันเสียงร้องเพลง สำหรับกติกาการแข่งขัน นกกรงหัวจุก ในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ คือ กติกาแบบสากล และ กติกาแบบ 4 ยก สำหรับ นกกรงหัวจุก ที่ มีเสียงไพเราะหรือชนะการประกวดก็จะมีราคาแพงตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน เลยทีเดียว นอกจากการประชันเสียงร้องแล้วยังมีการประกวดประชันหรือโชว์กรง นกกรงหัวจุก อีกด้วย